เปิดรายละเอียด"โครงการกองทุนการออมเพื่อการชราภาพ" ฉบับชงเข้าครม. ดึงแรงงานนอกระบบ 26 ล้านคนเข้าสู่ระบบการออมอย่างยั่งยืน
รายละเอียด โครงการกองทุนการออมเพื่อการชราภาพ (กอช.) ฉบับ "กรณ์ จาติกวณิช" ฉบับชงเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี แก้ปัญหาเงินออมในวันที่สังคมไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ดึงแรงงานนอกระบบ 26 ล้านคนเข้าสู่ระบบเงินออมอย่างยั่งยืน เผยสมาชิกได้รับรายได้หลังเกษียณไปตลอดอายุขัย อย่างน้อยในระดับพื้นฐาน หากออมตั้งแต่อายุ 20 ปี และออมจนครบอายุ 60 ปี จะได้รับบำนาญเดือนละ 1,710 บาท รวมเบี้ยยังชีพ เป็น 2,210 บาท รัฐจะมีภาระสมทบปีแรก จำนวน 22,955 ล้านบาท
กระทรวงการคลังได้ดำเนินการศึกษาวิเคราะห์การสร้างระบบการออมระยะยาวมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นเครื่องมือระดมเงินออมระยะยาวในประเทศ และเป็นเครื่องมือการออมเพื่อการชราภาพของแรงงานอีกด้วย โดยได้นำเสนอผลการศึกษาต่อสาธารณชนหลายครั้งในการสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องการออมระยะยาว และรณรงค์ให้เกิดความตระหนักในความสำคัญของการออม โดยได้เคยนำเสนอโครงการกองทุนการออมเพื่อการชราภาพสำหรับแรงงานในระบบ ซึ่งขณะนี้ ได้ยกร่างกฎหมายในส่วนนี้เรียบร้อยแล้ว และจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
ซึ่งได้นำเสนอผลการศึกษาโครงการ กอช. ต่อคณะอนุกรรมการผลักดันระบบการออมเพื่อวัยสูงอายุแห่งชาติ มาแล้วจำนวน 4 ครั้ง (ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2552) ได้ข้อสรุปของคณะอนุกรรมการฯ ดังมีสาระสำคัญ ต่อไปนี้
2. สาระสำคัญ
2.1 เหตุผลและความจำเป็นในการจัดตั้ง
2.1.1 ความครอบคลุมในระบบการออมเพื่อการชราภาพยังไม่ทั่วถึง
จากข้อมูลปี 2551 พบว่ามีจำนวนผู้มีงานทำทั่วประเทศ 37.55 ล้านคน แบ่งเป็นแรงงานในระบบ จำนวน 14 ล้านคน (ร้อยละ 37 ของผู้มีงานทำ) และแรงงานนอกระบบ จำนวน 23.55 ล้านคน (ร้อยละ 63 ของผู้มีงานทำ) โดยแรงงานที่ได้รับความคุ้มครองเป็นแรงงานในระบบ จำนวน 11.3 ล้านคน (ร้อยละ 30 ของผู้มีงานทำ ) ดังนั้น แรงงานที่ยังไม่ได้รับความคุ้มครองเป็นแรงงานนอกระบบทั้งจำนวนและแรงงานในระบบที่เหลือจำนวน 2.7 ล้านคน ดังนั้น รวมผู้ที่ไม่ได้รับความคุ้มครองจำนวน 26.25 ล้านคน หรือร้อยละ 70 ของผู้มีงานทำ
1.1.1 การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
ประเทศไทยกำลังประสบกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว พบว่าภายใน 20 ปี (ปี 2551 - 2571) สัดส่วนประชากรวัยสูงอายุต่อประชากรรวมเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า จากร้อยละ 10.12 เป็นร้อยละ 20.22 และอัตราการพึ่งพิงของผู้สูงอายุต่อประชากรวัยทำงาน (Elderly Dependency Ratio) เพิ่มสูงขึ้นถึง 2 เท่า จากร้อยละ 15.16 เป็น 31.88 เกิดความเสี่ยงของภาครัฐที่จะต้องจัดสรรงบประมาณจำนวนมากมาเลี้ยงดูคนชรา ในขณะที่ความเสี่ยงจากรายได้ภาษีคนวัยทำงานจะลดลงตามจำนวนคนวัยทำงานที่มีทิศทางลดลงด้วย
1.1.2 ขาดช่องทางการออมที่เป็นระบบในการส่งเสริมวินัยการออมและเพิ่มเงินออมภาคครัวเรือน
ปัจจุบันเครื่องมือการออมระยะยาวที่ประชาชนสามารถเข้าถึงและสอดคล้องกับความสามารถในการออมของประชาชนโดยเฉพาะแรงงานนอกระบบยังมีอยู่น้อยมาก ซึ่งหากประชาชนได้มีช่องทางหรือเครื่องมือการออมที่เป็นระบบ และเข้าถึงได้ง่ายแล้ว ก็จะสามารถระดมเงินออมภาคครัวเรือนได้อย่างเต็มศักยภาพ โดยเงินออมภาคครัวเรือนมีความสำคัญในการเป็นแหล่งเงินทุนที่มั่นคง กระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน รวมทั้งเป็นการส่งเสริมประชาชนให้มีวินัยในการออม ดูแลตนเองได้ในวัยชรา ลดภาระของลูกหลานและรัฐบาลได้อีกด้วย
1.2 วัตถุประสงค์
1.2.1 เพื่อให้มีระบบการออมเพื่อการชราภาพมีความครอบคลุมทั่วถึงแรงงานทุกคน สร้างความเท่าเทียม และเป็นธรรมในการดูแลจากภาครัฐ
1.2.2 เพื่อให้แรงงานมีระดับรายได้หลังเกษียณอย่างน้อยขั้นพื้นฐาน เพื่อสร้างความมั่นคงในชีวิตวัยชรา
1.2.3 เพื่อให้มีกองทุนที่มีการบริหารและสามารถลดภาระรัฐบาลได้ในระยะยาวอย่างมีประสิทธิภาพ
1.3 โครงสร้าง กอช.
1.3.1 รูปแบบ เป็นกองทุนการออมเพื่อการชราภาพขั้นพื้นฐานที่วัยแรงงาน ได้รับสิทธิตามกฎหมาย กำหนดการจ่ายเงินเข้ากองทุน (Defined contribution) สมาชิกมีบัญชีรายบุคคล และเปิดให้มีการออมภาคสมัครใจด้วย
1.3.2 ความครอบคลุม ผู้ที่ยังไม่ได้รับความคุ้มครองและหลักประกันทางสังคมตามกฎหมายอื่น ๆ (แรงงานนอกระบบ) ที่มีอายุตั้งแต่ 20 - 60 ปี ได้รับสิทธิตามกฎหมายในการเป็นสมาชิกกองทุน ส่วนผู้ที่อายุต่ำกว่า 20 ปี สามารถเข้ากองทุนได้ตามความสมัครใจ (สะสมฝ่ายเดียว)
1.3.3 ผู้ที่ได้รับการยกเว้น วัยแรงงานที่ทุพพลภาพ ไร้สมรรถภาพ หรือเป็นผู้สูญเสียความสามารถในการทำงานอย่างถาวร
2.1.2 การจ่ายเงินเข้ากองทุน
1) ผู้ออม สามารถเลือกจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนเป็นรายเดือน หรือรายงวด (3 เดือน 6 เดือน หรือ 1 ปี) ก็ได้ โดยรายเดือน สะสมตามสิทธิเดือนละ 100 บาท สำหรับรายงวด จ่ายตามจำนวนเดือน เช่น ราย 6 เดือน แรงงานจะต้องจ่าย 600 บาท เป็นต้น และสะสมตามความสมัครใจได้เดือนละ 100 - 1,000 บาท
2) รัฐบาล จ่ายสมทบให้ตามสิทธิ เป็นลำดับขั้นตามช่วงอายุของผู้ออม คือ
(2) อายุ 30 ปี 1 เดือน - 50 ปี สมทบเดือนละ 80 บาท
(3) อายุ 50 ปี 1 เดือน - 60 ปี สมทบเดือนละ 100 บาท
ทั้งนี้ กรณีรายงวด รัฐสมทบให้ตามจำนวนเดือนเช่นเดียวกัน
สำหรับผู้ที่ได้รับการยกเว้น (ตามข้อ 2.3.3) ไม่ต้องจ่ายสะสม และรัฐสมทบให้ ร้อยละ 50 ของกรณีปกติ
3.3.5 การจ่ายผลประโยชน์ สมาชิกได้รับผลประโยชน์ตามบัญชีรายตัว โดยได้รับการรับประกันจากรัฐบาลในส่วนเงินต้น รวมดอกผลขั้นต่ำไม่น้อยกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำระยะยาวประเภท 1 ปี (เฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 4 แห่ง) โดยอัตราบำนาญได้จากบัญชีเงินสะสมคำนวณตามจำนวนปีที่สมาชิกประสงค์จะรับ รวมกับบัญชีเงินสมทบคำนวณแบบบำนาญตลอดอายุขัย ดังนั้น สมาชิกจะได้รับบำนาญไปตลอดอายุขัย และหากเสียชีวิตก่อนเวลาที่กำหนด ทายาทจะได้รับเงินคืนในส่วนของบัญชีเงินสมทบที่เหลือ โดยการรับผลประโยชน์จากกองทุนมีเงื่อนไข ดังตาราง
1.1.1 การกำหนดนโยบาย โดยคณะกรรมการนโยบายการออมเพื่อการเกษียณอายุแห่งชาติ ซึ่งจะได้มีการจัดตั้งเพื่อทำหน้าที่กำหนดนโยบายการออมเพื่อการเกษียณอายุและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ในภาพรวมของระบบต่าง ๆ ได้แก่ เบี้ยยังชีพ กองทุนประกันสังคม กบข. กอช. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ เพื่อให้เกิดความสอดคล้อง เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ซ้ำซ้อน รวมทั้งให้เกิดความเหมาะสมทั้งในเรื่องผลประโยชน์ ภาระแรงงาน ภาระนายจ้าง และภาระรัฐบาล โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ และมีผู้แทนภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นกรรมการ
ทั้งนี้ สำหรับเบี้ยยังชีพ ให้คณะกรรมการนโยบายการออมเพื่อการเกษียณอายุแห่งชาติ เป็นผู้กำกับดูแลนโยบายการจ่ายเบี้ยยังชีพ ตามที่ดำเนินงานอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งดำเนินการภายใต้พระราชบัญญัติผู้สูงอายุแห่งชาติ พ.ศ. 2546 ตามระเบียบคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ พ.ศ. 2552 โดยผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นการดำเนินการที่เหมาะสม
1.1.2 การกำกับดูแล กำกับดูแลโดยสำนักงานกองทุนการออมเพื่อการชราภาพ เป็นองค์กรอิสระ ทำหน้าที่กำกับดูแล กอช. และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และมีหน้าที่ตรวจสอบให้การดำเนินการของกองทุนเป็นไปตามกฎหมาย และสอดคล้องภายใต้แนวนโยบายหลักของคณะกรรมการนโยบายการออมเพื่อการเกษียณอายุแห่งชาติ และทำหน้าที่ติดตามแรงงานให้เข้า กอช.
โครงสร้างการดำเนินงานด้านนโยบายและการกำกับดูแลกองทุนเพื่อการเกษียณอายุ
ปรากฏตามรูปภาพที่ 1
1.1.1 อายุรับผลประโยชน์ อายุที่สมาชิกมีสิทธิรับผลประโยชน์จากกองทุนเหตุ
สูงอายุ กำหนด 60 ปี ในระยะเริ่มต้นโครงการ และให้อำนาจคณะกรรมการฯ ประกาศเพิ่มเติมในการปรับอายุที่มีสิทธิได้รับเงินจากกองทุนตามดัชนีชี้วัด เช่น อายุขัยเฉลี่ย หรือ ความสามารถในการทำงานของแรงงานได้ต่อไป
1.1.2 นโยบายการลงทุน กำหนดกรอบลงทุน โดยการลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูงหรือมีอัตราความเสี่ยงต่ำ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ของเงินกองทุน และการลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยง ไม่เกินกว่าร้อยละ 40 ของเงินกองทุน
1.1.3 การจัดเก็บเงินและข้อมูล การจัดเก็บเงินและข้อมูล และการทำฐานข้อมูลทะเบียนกลางของ กอช. จะเป็นแบบรวมศูนย์ (Centralized Collection and Registrar) ดำเนินการโดยสำนักงาน กอช. (หรือสำนักงาน กอช. อาจมอบหมายให้หน่วยงานภายนอกรับไปดำเนินการ)
1.1.4 การบริหารจัดการเงินกองทุน การบริหารเงินกองทุน กอช. ดำเนินการแบบรวมศูนย์โดยสำนักงาน กอช. และจัดจ้างบริษัทจัดการลงทุน (บลจ.) บางรายมาบริหารเงินกองทุน โดยสำนักงาน กอช. จะกำหนดเกณฑ์ในการคัดเลือก บลจ. ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจจัดการกองทุนส่วนบุคคลจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) มาร่วมบริหารเงินกองทุน
1.1.5 การเก็บรักษาทรัพย์สิน สำนักงาน กอช. จะคัดเลือกผู้รับฝากทรัพย์สิน (Custodian) ที่ได้รับใบอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อทำหน้าที่ดูแลและเก็บรักษาหลักทรัพย์และทรัพย์สินอื่น ๆ และตรวจเช็คทรัพย์สินสุทธิของสำนักงาน กอช. และ บลจ. รวมทั้งติดตามสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่ได้จากการลงทุนของกองทุน
1.1.6 การเชื่อมโยงกับองค์กรการเงินชุมชน ปัจจุบันมีการดำเนินการการออมขององค์กรการเงินชุมชน (ณ ธ.ค. 2551 มีองค์กรชุมชน 64,952 องค์กร มีสมาชิก 16,665,271 คน และมีเงินออม 15,798.87 ล้านบาท) ซึ่งส่วนใหญ่ดำเนินการด้านสวัสดิการต่างๆ มีเพียงส่วนน้อยที่ให้สวัสดิการกรณีชราภาพด้วย ดังนั้น สำนักงาน กอช. จะอนุญาตให้สามารถนำเงินกองทุนชุมชนมาบริหารจัดการภายใต้สำนักงาน กอช. ตามหลักเกณฑ์การลงทุนเดียวกัน และองค์กรชุมชนรับผิดชอบการนำเงินไปจัดสวัสดิการต่าง ๆ ตามข้อตกลงมีอยู่เดิม นอกจากนี้ สำหรับองค์กรชุมชนที่ตั้งใหม่หลังจากมี กอช. แล้ว ก็สามารถดำเนินการได้ในทำนองเดียวกัน
แผนภาพโครงสร้างระบบการดำเนินงาน กอช. ปรากฏตามรูปภาพที่ 2
2.1.3 สิทธิประโยชน์ทางภาษี สมาชิกจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ดังนี้
(1) เงินสะสม ยกเว้นภาษีเงินสะสมตามที่จ่ายจริง แต่ทั้งนี้ เงินสะสมที่ได้รับการยกเว้นภาษี จะต้องไม่เกินปีละ 13,200 บาท (ส่งเงินสะสมเดือนละไม่เกิน 1,100 บาท)
(2) เงินผลประโยชน์ ยกเว้นภาษี
(3) เงินที่ได้รับจากกองทุน ยกเว้นภาษีเงินได้ในส่วนของเงินบำนาญและเงินก้อนที่ได้รับในกรณีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ กรณีเหตุทุพพลภาพ และกรณีเหตุเสียชีวิต
2.1.4 การดูแลผลประโยชน์ สำนักงาน กอช. จะคัดเลือกผู้ดูแลผลประโยชน์ (Trustee) จากผู้ดูแลผลประโยชน์ทั้งหมดที่ได้รับใบอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. โดย Trustee มีหน้าที่ดูแลผลประโยชน์ ตรวจสอบผู้จัดการกองทุนให้ลงทุนตามวัตถุประสงค์ตามกฎหมายและเพื่อประโยชน์ของสมาชิกเป็นสำคัญ และรายงานสำนักงาน กอช. ทันทีที่พบความผิด
2.2 ผลที่คาดว่าจะได้รับ
2.2.1 สมาชิกได้รับรายได้หลังเกษียณไปตลอดอายุขัย อย่างน้อยในระดับพื้นฐาน โดยผู้ที่ออมตั้งแต่อายุ 20 ปี และออมจนครบอายุ 60 ปี โดยออมขั้นพื้นฐานตามสิทธิอย่างเดียว จะได้รับบำนาญเดือนละ 1,710 บาท (รวมเบี้ยยังชีพ เป็น 2,210 บาท)
1.1.1 เงินออมเพิ่มขึ้น เงินกองทุนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง พบว่าปีแรกเงินออมขั้นพื้นฐาน มีจำนวน 56,316 ล้านบาท (กรณีมีผู้เข้าระบบร้อยละ 100 ของกลุ่มเป้าหมาย) จำนวน 45,053 ล้านบาท (กรณีมีผู้เข้าระบบร้อยละ 80 ของกลุ่มเป้าหมาย) และจำนวน 16,895 ล้านบาท (กรณีมีผู้เข้าระบบร้อยละ 30 ของกลุ่มเป้าหมาย)
1.1.2 ส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน เนื่องจากเงินออมในกองทุนจะส่งผลให้เงินลงทุนระยะยาวจากผู้ลงทุนประเภทสถาบันเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะเพิ่มปริมาณการลงทุนจะส่งผลให้ตลาดทุนในภาพรวมมีความมั่นคงและมีเสถียรภาพมากขึ้น รวมทั้งการลดความผันผวนของการเคลื่อนย้ายเงินลงทุน นอกจากนี้ ยังมีผลต่อการพัฒนาตราสารรูปแบบใหม่ ๆ ในตลาดตามอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นด้วย
1.2 ภาระรัฐบาล
รัฐบาลจะมีภาระจ่ายเงินสมทบในกองทุนตามช่วงอายุต่าง ๆ ของผู้ออม ซึ่งหากมีผู้เข้าระบบ กอช. ครบร้อยละ 100 รัฐจะมีภาระสมทบปีแรก จำนวน 22,955 ล้านบาท (ร้อยละ 0.27 ต่อ GDP) หากประชาชนเข้าระบบ ร้อยละ 80 รัฐจะต้องสมทบจำนวน 18,364 ล้านบาท (ร้อยละ 0.22 ต่อ GDP) และหากประชาชนเข้าระบบร้อยละ 30 รัฐจะต้องสมทบ 6,887 ล้านบาท (ร้อยละ 0.08 ต่อ GDP)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น