วันพฤหัสบดีที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2553

การจดทะเบียนคนพิการ

            การจดทะเบียนคนพิการ



          การฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการนั้น ถือเป็นแนวทางสำคัญในการพัฒนาคนพิการอย่างยั่งยืน อันจะทำให้คนพิการอยู่ในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับคนทั่วไป ดังนั้น รัฐบาลไทยจึงได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติ การฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ.2534 ขึ้น เพื่อส่งเสริมให้คนพิการได้รับสิทธิและโอกาสในการฟื้นฟูสมรรถภาพทางด้านการแพทย์ ศึกษา อาชีพ และสังคม โดยคนพิการที่รับสิทธิและโอกาสดังกล่าว ให้ยื่นจดทะเบียนคนพิการ

            สถานที่จดทะเบียน

1. คนพิการที่มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร จดทะเบียนได้ที่ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว สำหรับคนพิการ (One – stop services center) อาคาร 1 ชั้น 1 กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ถนนกรุงเกษมสะพานขาว เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร โทร. 0-2659-6170-1

2. คนพิการที่มีภูมิลำเนาในต่างจังหวัด จดทะเบียนได้ที่จังหวัดที่ตนมีภูมิลำเนาอยู่ที่สำนักงานพัฒนาสังคมและสวัสดิการจังหวัด ตั้งอยู่ที่ศาลากลางจังหวัดทุกจังหวัด

3. คนพิการที่ไม่ได้อยู่ในภูมิลำเนาของตน เช่น ไปประกอบอาชีพอยู่ในจังหวัดอื่น หรือในกรุงเทพมหานคร สามารถจดทะเบียนได้ ณ จังหวัดที่ตนอาศัยอยู่

       เอกสารที่ใช้ในการจดทะเบียน
 1. เอกสารรับรองความพิการ ซึ่งประเมินความพิการโดยแพทย์ของสถานพยาบาลของทางราชการ

2. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรประจำตัวข้าราชการ หรือบัตรประจำตัวต่างด้าว หรือเอกสารอื่นที่ทางราชการออกให้ ในกรณีเป็นผู้เยาว์ใช้สูติบัตร พร้อมทั้งต้นฉบับตัวจริง

3. สำเนาทะเบียนบ้าน พร้อมทั้งต้นฉบับตัวจริง

4. รูปถ่ายขนาด 1 นิ้ว จำนวน 2 รูป

        การจดทะเบียนแทน

หากคนพิการไม่สามรถไปจดทะเบียนได้ด้วยตนเอง เนื่องจากมีสภาพความพิการมาก มีความยากลำบากในการเดินทาง เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถหรือไร้ความสามารถ ให้มีผู้อื่นมาจดทะเบียนแทนได้ ทั้งนี้ผู้จดทะเบียนแทนต้องนำเอกสารมาด้วย ดังนี้

1. เอกสารหลักฐานของคนพิการ

2. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรประจำตัวข้าราชการ หรือบัตรประจำตัวต่างด้าว หรือเอกสารอื่นที่ทางราชการออกให้ของผู้จดทะเบียนแทน พร้อมทั้งต้นฉบับตัวจริง

3. สำเนาทะเบียนบ้านของผู้จดทะเบียนแทน พร้อมต้นฉบับตัวจริง

4. ใบมอบอำนาจจากคนพิการหรือหนังสือรับรองจากทางราชการ

5. คำสั่งศาลในกรณีที่ศาลสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถหรือไร้ความสามารถ หรือการจัดตั้งผู้ปกครองกรณีผู้เยาว์ไม่มีบิดา-มารดา หรือบิดา-มารดาถูกถอนอำนาจปกครอง

          สมุดประจำตัวคนพิการ

          คนพิการจะได้รับสมุดประจำตัวคนพิการเมื่อจดทะเบียนแล้ว เพื่อนำไปแสดงในการขอรับบริการ สงเคราะห์ หรือการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการด้านต่าง ๆ สมุดประจำตัวคนพิการนี้จะมีอายุ 5 ปีนับจากวันออกสมุด เมื่อครบกำหนดแล้วจะต้องนำมาขอต่ออายุสมุดประจำตัวคนพิการตามสถานที่จดทะเบียน พร้อมกับเอกสารที่ใช้ในการต่ออายุสมุด หากสมุดประจำตัวคนพิการสูญหาย ให้แจ้งความที่สถานีตำรวจ และนำใบแจ้งความมายื่นขอจดทะเบียนใหม่

          การต่ออายุสมุดประจำตัวคนพิการ

         เพื่อให้คนพิการได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ดังนั้นเมื่อสมุดประจำตัวคนพิการหมดอายุ คนพิการจะต้องดำเนินการต่ออายุสมุดประจำตัวคนพิการด้วย ซึ่งหลักฐานในการต่ออายุสมุดประจำตัวคนพิการ ให้คนพิการนำสมุดประจำตัวคนพิการเล่มเดิมที่หมดอายุพร้อมสำเนาทะเบียนบ้าน มาขอรับบริการต่ออายุสมุด โดยเจ้าหน้าที่ผู้จดทะเบียนฯ จะตรวจสอบหลักฐานจากทะเบียนคนพิการของจังหวัด แล้วจึงดำเนินการต่ออายุสมุดประจำตัวคนพิการในสมุดเล่มเดิมให้แก่คนพิการ โดยไม่ต้องใช้เอกสารรับรอง ความพิการฉบับใหม่ ยกเว้นแต่ลักษณะของความพิการที่ระบุไว้ในเล่มเดิมไม่ชัดเจน หรือสภาพความพิการเปลี่ยนแปลงไป เจ้าหน้าที่ผู้จดทะเบียนฯ จะให้คนพิการไปขอรับเอกสารรับรองความพิการฉบับใหม่ เพื่อใช้ประกอบการต่ออายุสมุดประจำตัวคนพิการ สมุดประจำตัวคนพิการจะมีอายุ 5 ปี นับจากวันออกสมุด

         บริการที่จะได้รับตามพระราชบัญญัติฯ
 บริการทางการแพทย์ คือ การรักษาพยาบาล เพื่อแก้ไขความพิการหรือเพื่อปรับสภาพความพิการ กายอุปกรณ์และเครื่องช่วยความพิการต่าง ๆ คำแนะนำปรึกษาทางการแพทย์โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ติดต่อขอรับบริการได้ที่สถานพยาบาลของรัฐทั่วประเทศ

บริการทางการศึกษา คือ การเข้าเรียนในสถานศึกษาต่าง ๆ อุปกรณ์และค่าใช้จ่ายในการเรียน คำแนะนำปรึกษาเกี่ยวกับการศึกษา ติดต่อขอรับบริการได้ที่กองการศึกษาเพื่อคนพิการ กรมสามัญศึกษา หรือสำนักงานสามัญศึกษาจังหวัดทุกจังหวัด

บริการทางอาชีพ คือ แนะนำการประกอบอาชีพ การจัดฝึกอาชีพ ให้กู้ยืมเงินทุนประกอบอาชีพ ตลอดจนบริการจัดหางานในสถานประกอบการที่เข้าข่ายต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวง เรื่องการจ้างงานคนพิการที่ออกตามความใน พ.ร.บ. การฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ. 2534

บริการทางสังคม คือ ให้คำปรึกษาแนะนำ บริการช่วยเหลือเด็กพิการ และครอบครัวคนพิการที่มีฐานะยากจนและประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ รวมถึงเบี้ยยังชีพคนพิการ ให้กับคนพิการที่มีสภาพความพิการมากจนไม่สามารถประกอบอาชีพได้ และมีฐานะยากจน ซึ่งบริการทางอาชีพและสังคม ติดต่อขอรับบริการได้ที่หน่วยงานที่ให้บริการแก่คนพิการในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น